เกษียณอย่างไร ให้มีเงินเก็บพอใช้
by PISOOT แห่ง MEN of Tomorrow
เมื่อพูดถึงการเกษียณอายุ หลายคนนึกถึงการหยุดทำงานเมื่อครบอายุ 60 ปี และได้รับเงินช่วยเหลือจากทางรัฐบาล หรือนายจ้าง หากเป็นข้าราชการที่ทำงานครบ 25 ปี ก็จะได้รับเงิน “บำนาญ” ซึ่งเป็นเงินตอบแทนความชอบที่ทางรัฐบาลจ่ายให้เป็นรายเดือนจนกระทั่งเสียชีวิต หรือถ้าเลือกรับเป็นเงินก้อน ก็จะเรียกว่า “บำเหน็จ” หากทำงานบริษัทเอกชนก็จะได้รับเงินในส่วนของ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นอกจากนี้รัฐบาลยังมีเงินช่วยเหลือในส่วนของ “ประกันสังคม” ซึ่งเป็นสวัสดิการที่จัดตั้งขึ้นโดยภาครัฐ เพื่อให้สิทธิประโยชน์กับคนทำงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร รวมไปถึงการจ่ายเงินให้เป็นรายเดือนหลังจากที่เกษียณแล้ว
สวัสดิการต่างๆเหล่านี้มีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้เราได้บ้างในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเรียกได้ว่าไม่เพียงพอให้อยู่อย่างสบายในวัยเกษียณ ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตรัฐบาลจะไม่จ่ายเป็นเงินบำนาญ แต่จะจ่ายเป็นเงินบำเหน็จหรือเงินก้อนแทน ทำให้ต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี จะประมาทเรื่องการใช้จ่ายไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเงินก้อนที่ได้มาจะหมดเมื่อไหร่ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นก็ยังเป็นโครงการที่ใช้เฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น มิใช่ระบบบังคับให้ทุกคนที่ทำงานมีรายได้ต้องเป็นสมาชิก ดังนั้นการพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ และถ้าเราเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี เราอาจไม่มีเรี่ยวแรงมากพอที่จะทำงานหาเงินจากแหล่งอื่นเพิ่มเหมือนกับตอนที่เราอายุยังน้อยก็เป็นได้
ดังนั้น การมีอิสสระทางการเงินในขณะที่ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงนั้น นับเป็นชีวิตที่น่าปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเรามีความมั่นคงทางการเงินในระดับหนึ่ง จนไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพอีกต่อไป แต่ยังมีเวลาที่จะเลือกทำในสิ่งที่รัก หรือเลือกที่จะทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม นั่นก็ถือว่าเข้าข่าย “เกษียณ” ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการเกษียณอายุก่อน 60 ปี และมีความมั่งคั่งทางการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การที่เราจะมีความมั่งคั่งเพียงพอถึงขนาดที่ว่าไม่ต้องทำงานต่อไป เราต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดี
เคล็ดไม่ลับ…กับการออม
เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เรามักไม่ค่อยนึกถึงการวางแผนการเงินสำหรับอนาคตเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนการเงินที่จะสำรองไว้ใช้ในวัยที่เลิกทำงานแล้ว เพราะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวนัก ส่วนใหญ่มักบริหารจัดการเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในปัจจุบัน โดยที่หารู้ไม่ว่า ยิ่งเริ่มลงมือออมช้าเท่าใด ยิ่งทำให้ยอดเงินสะสมในอนาคตลดลงมากขึ้นเท่านั้น
ก่อนที่จะเริ่มออม เราควรมีเป้าหมายที่แน่นอนเสียก่อนว่าออมเงินเท่าใดถึงจะพอดี และมีเพียงพอให้อยู่อย่างสบายในชีวิตหลังทำงาน ถ้าออมมากไปจนต้องใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียรขนาดต้องหยิบยืมจากคนอื่น แต่เงินของตัวเองเอาไปเก็บเสียหมด ก็อาจจะผิดเป้าหมายไปได้ จากเดิมที่คิดจะมีเงินออมไว้ใช้เอง กลับกลายเป็นต้องเอาเงินไปใช้หนี้คนอื่นเสียหมดก็ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าออมน้อยเกินไป เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้เงิน กลับมีเงินไม่พอใช้เสียนี่ และอาจนึกเจ็บใจทีหลังว่าถ้าหากออมมากกว่านี้ก็คงดี แต่จะให้ย้อนเวลากลับไปก็คงเป็นไปไม่ได้
ทางที่ดีที่สุดในการออมคือ ต้องออมอย่างสม่ำเสมอในจำนวนเงินที่ไม่เกินความสามารถของตนเอง อย่างไรก็ตาม การออมเงินของเราก็มีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นตัวที่บั่นทอนให้ค่าเงินของเราน้อยลง เงิน 500,000 บาทในวันนี้อาจอยู่ได้อย่างสบายใน 1 ปี แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะต้องมีเงินถึง 1 ล้านบาท ถึงจะมีความเป็นอยู่ได้อย่างเดียวกันได้ใน 1 ปี เพื่อให้ได้เป้าหมายเงินออมตามที่ต้องการ เราอาจจะต้องนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
รู้จักเลือกลงทุน
เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าฝากเงินไว้กับธนาคารเพียงอย่างเดียว คุณควรจัดสรรเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปลงทุนที่ให้ดอกผลที่สูงขึ้นโดยอยู่ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมและยอมรับได้ สำหรับผู้ที่ต้องการให้เงินงอกเงย อาจจะนำเงินไปลงทุนในตราสารต่างๆดังนี้
- พันธบัตร ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเพื่อเป็นการกู้เงินระยะยาวมากกว่า 1 ปี มีอายุการชำระเงิน งวดการจ่ายดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แน่นอน ตราสารชนิดนี้ เป็นตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำที่สุดด้วยในระยะเวลาที่เท่ากันกับตราสารอื่นๆ
- ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นการลงทุนที่มักใช้แทนการฝากธนาคาร เพียงแต่เป็นการฝากเงินกับบริษัทเงินทุน ซึ่งมักจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากธนาคารบ้าง
- หุ้นกู้ เป็นตราสารที่คล้ายกับพันธบัตรรัฐบาล แต่ออกโดยบริษัทเอกชน มีระยะเวลากำหนด และให้ผลตอบแทนรูปของดอกเบี้ย โดยมักจะมีผลตอบแทนที่สูงกกว่าพันธบัตรรัฐบาล แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
- หุ้นสามัญ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า “หุ้น” ซึ่งเป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าเช่นกัน ตราสารประเภทนี้รวมไปถึง หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ และตราสารแสดงสิทธิ์การซื้อหุ้น (วอแรนท์) และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน ซึ่งเป็นทั้งการออมและการสร้างหลักประกันในชีวิตพร้อมๆ กันไปด้วย
ตราสารทางการเงินเหล่านี้ ผู้ลงทุนอาจแยกหมวดหมู่เป็นการเป็นการลงทุนเอง เช่น ลงทุนในหุ้น หรือจะลงทุนแบบที่มีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บริหาร เช่น การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างๆ แต่ไม่ว่าจะมีเงินออมมากน้อยเพียงไน จะลงทุนเอง หรือให้ผู้อื่นลงทุนให้ สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องให้เวลา ความเอาใจใส่ และศึกษาการลงทุนในตราสารแต่ละชนิดให้ดีเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เงินออมของเราต้องสูญเสียไป
ฉลาดใช้เงิน
กว่าที่คนเราจะมีความมั่งคงทางการเงินได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งการคือ การใช้เงินให้เป็น ไม่มีคนร่ำรวยคนไหนที่เริ่มต้นจากการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่เห็นค่าของเงิน ดังนั้น นอกเหนือไปจากการออม และการลงทุนเพื่อให้เงินทำงานแทนนั้น เราต้องรู้จักรักษาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อให้ใช้งานได้นาน รู้จักใช้พลังงานอย่างประหยัด เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ปิดน้ำให้สนิท และใช้รถขนส่งมวลชนบ้างเพื่อประหยัดน้ำมัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรลงไปได้มาก นอกจากนี้ควรจะรู้จักการบำรุงรักษา ซ่อมแซมข้าวของอุปกรณ์เครื่องใช้ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เพราะของที่เสียแต่ซ่อมได้ก็ไม่จำเป็นจะต้องซื้อใหม่ไปเสียทุกครั้ง
ทำชีวิตให้มีสุข..หลังการเกษียณเมื่ออายุ 60
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า มีคนไม่มากนักที่เป็นอิสระทางการเงินได้ จนสามารถเกษียณตัวเองได้ก่อนอายุครบ 60 ปี สำหรับพวกเขาเหล่านั้นมักจะเป็นคนที่มีเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณที่ชัดเจนของตัวเองอยู่แล้ว และพอมีเรี่ยวแรงทำตามสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวรอบโลก หรือการทำงานเพื่อสังคมที่ไม่ต้องการเงินเป็นค่าตอบแทน เช่น การเป็นอาสาสมัครต่างๆ เป็นต้น แต่สำหรับคนที่เกษียณอายุตามปกติ เมื่ออายุ 60 ปีนั้น ควรระลึกไว้เสมอว่า “ชีวิตย่อมมีการเปลี่ยนแปลง” เพราะคนที่เคยทำงานประจำ มีตำแหน่งสูง ๆ มีลูกน้องล้อมหน้าล้อมหลัง มีเงินเดือนและใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงานมาจนอายุ 60 ปี บางคนอาจจะยังทำใจไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังจากที่เกษียณอายุไปแล้ว หลายคนเริ่มมีเวลาว่าง รู้สึกเหงาที่ว่างเว้นจากการทำงาน ไม่รู้จะจัดสรรชีวิตอย่างไร แต่หลายคนเลือกที่จะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ และสร้างคุณค่าให้กับชีวิต เช่น การไปช่วยเหลืองานตามชมรม สมาคม หรือมูลนิธิต่าง ๆ นอกเหนือจากการช่วยเหลืองานบ้านตามความสามารถและความถนัด เช่น เข้าครัวทำอาหาร ดูแลต้นไม้ เลี้ยงหลาน เพราะโดยนิสัยของคนที่เคยทำงานมาแม้จะเข้าสู่วัยสูงอายุก็ไม่อยากอยู่นิ่งเฉย หากสภาพร่างกายยังเอื้ออำนวยหรือพอจะทำประโยชน์อะไรได้บ้างก็จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้
และที่มองข้ามไปไม่ได้นั่นก็คือ เรื่องสุขภาพ ต้องรับประทานอาหาอย่างถูกต้อง หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น แจ่มใส ชะลอความชรา การหัวเราะหรือยิ้มแย้มถือเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด ทำให้ดูมีชีวิตชีวา สดชื่นกระปรี้กระเปร่า และอ่อนกว่าวัย สามารถช่วยผ่อนคลายภาระตึงเครียดต่าง ๆ ลงได้ และไม่ลืมที่จะไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วย
การวางแผนเพื่อการเกษียณนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณมีชีวิตที่สบายในวัยเกษียณ แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ต้องการเงินเป็นจำนวนมากหลาย ๆ ล้านสำหรับชีวิต แต่อย่างน้อยที่สุดคุณจำเป็นต้องมีเงินจำนวนพอสมควรที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข